ทฤษฎี Broken Windows คืออะไร ?

Broken Window Theory

ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) เป็นหลักการทฤษฎีทางอาชญาวิทยาโดยมีจุดเริ่มต้นทฤษฎีโดย ฟิลลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) เป็นนักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ด ทำการทดลองในปี 1969 โดยนำรถที่ไม่มีป้ายทะเบียนและเปิดฝากระโปรงไปจอดทิ้งไว้นิ่ง ๆ ที่ย่านบร็องซ์(The Bronx) เป็นย่านที่เสื่อมโทรมของนิวยอร์คหนึ่งคันและอีกหนึ่งคันไปจอดทิ้งไว้ที่ พาโล อัลโต (Palo Alto, California) เป็นย่านที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดรัฐแคลิฟอร์เนีย

หลังจากจอดทิ้งไว้รถคันที่จอดในย่านบร็องซ์นั้นถูกทุบทำลายจากผู้คนในช่วงเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากที่ไปจอด โดยมีผู้คนเข้าไปทำลายทรัพย์สินกลุ่มแรกเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก รถถูกทุบตีกระจกและขโมยของที่สามารถนำไปขายได้ เช่น หม้อน้ำและแบตเตอรี่ ทุกชิ้นส่วนของรถถูกทำลายและกลายเป็นสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ ในภายหลัง แต่กลับกัน รถอีกคันที่ถูกจอดไว้เช่นเดียวกันในย่านพาโล อัลโต นั้นไม่มีใครแตะต้องนานกว่า 1 สัปดาห์ ฟิลลิป ซิมบาร์โดผู้ทดลองจึงนำค้อนเข้าไปทุบรถคันนั้นและผ่านไปไม่นานผู้คนแถวนั้นก็เข้ามาร่วมทำลายรถเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้คนที่เข้ามาทำลายรถเป็นคนวัยกลางคนที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนผิวขาว แต่งตัวดี

จากการทดลองเชื่อว่าผู้คนที่อยู่ในย่านบร็องซ์เป็นย่านที่มีประวัติการทิ้งร้างทรัพสินสูงกว่าที่อื่น ๆ จึงทำให้เกิดการทำลายทรัพย์สินขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนำรถไปจอดทิ้งไว้ แต่สำหรับในย่านพาโล อัลโตที่เป็นย่านที่มีผู้คนในสังคมที่ดีกว่าจึงไม่มีการเข้าไปทำลายรถที่ถูกจอดทิ้งไว้ แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อ ซิมบาร์โดเริ่มทุบรถที่จอดไว้เพียงไม่กี่ชั่วโมงจึงสังเกตเห็นได้ว่าหากละเลยปล่อยให้ทรัพย์สินอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมันจะกลายเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาร่วมทำลายให้เสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นอีก 13 ปีถัดมา เจมส์ คิว วิลสัน (James Q. Wilson) และจอร์จ แอลเคลลิ่ง (George L. Kelling) ได้นำการทดลองมาต่อยอดเป็นบทความชื่อ “Broken Windows” โดยในบทความกล่าวถึงการที่จะใช้ผลการทดลองที่ผู้คนเข้ามาร่วมทำลายทรัพย์สินที่เสียหายอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อใช้ในสังคมได้

แผนการป้องกันการทำลายทรัพย์สิน และการจัดการกับปัญหาเมื่อมันยังเล็กอยู่ เหมือนการซ่อมหน้าต่างที่แตกในเวลาอันสั้นนั้น แนวโน้มที่หน้าต่างบานอื่น ๆ รวมถึงส่วนอื่น ๆ จะถูกทำลายน้อยลง หากในสังคมมีการทำความสะอาดทางเดิน ถนน และที่สาธารณะในทุก ๆ วัน แนวโน้มของขยะสะสมก็จะลดลงเช่นเดียวกัน และถูกนำไปปรับใช้เป็นแผนการป้องกันอาชญากรรมและพฤติกรรมที่จะทำลายสังคมตั้งแต่คดีเล็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นคดีใหญ่ได้ในภายหลัง

แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้ในการทำงานทั่ว ๆ ไปของหลาย ๆ หน่วยงานเพื่อช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ ๆ ที่จะเกิดก่อนด้วยการแก้ไขปัญหาเล็ก ๆ ที่มีอยู่ให้เสร็จก่อนทันท่วงทีจนเป็นบรรทัดฐานทั้งในสังคมและองค์กรต่าง ๆ ที่ดี

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.