ถ้าใครเคยสั่งเฟอร์นิเจอร์บิลท์-อิน (Built-in) และเรียกผู้รับเหมาหลายๆ เจ้าเสนอราคา คงจะเคยเจอเรื่องปวดหัวว่าราคาแต่ละเจ้าบางครั้งแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้มีแบบแปลนอยู่แล้วหรือมีแต่ผู้ออกแบบไม่ได้ระบุสเปควัสดุชัดเจนอาจจะเจอปัญหาว่าแต่ละผู้รับเหมาเสนอราคาแตกต่างกันมากกว่าเท่าตัว นั่นก็เพราะวัสดุที่สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์มีหลายแบบมาก วิธีการขึ้นชิ้นงานก็ต่างกันมาก ลูกค้าจึงจำเป็นต้องดูสเปคของวัสดุในใบเสนอราคาให้ชัดเจน วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังว่าการผลิตเจอร์นิเจอร์มีวัสดุกี่ประเภทบ้างครับ เริ่มตั้งแต่วิธีดั้งเดิมถึงปัจจุบัน
ไม้จริง (Solid Wood)
การใช้ไม้จริงๆ มาผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นวิธีดั้งเดิม คือใช้ไม้จริง (Solid Wood) มาผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งชิ้นงาน เป็นที่นิยมมากในสมัยก่อน (จริงๆ น่าจะเป็นวิธีเดียวในยุคนั้น) เพราะไม้หาง่าย มีราคาถูกและยังไม่มีวัสดุทดแทนอื่น การทำบานตู้หรือแผงตู้แผงหนึ่งอาจต้องใช้ไม้กระดานแผ่นใหญ่ซึ่งทำจากต้นไม้ขนาดใหญ่ การขึ้นชิ้นงานต้องอาศัยช่างไม้ที่มีทักษะเพราะการต่อไม้ต่างๆ ต้องเข้าเดือย ปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงมีน้อยลงมาก เพราะไม้ใหญ่หายากขึ้น ราคาแพงขึ้น มีวัสดุทดแทนอื่นและช่างไม้มีฝีมือก็ลดลง เฟอร์นิเจอร์ไม้จริงจึงมีขายเป็นสินค้าระดับบนเป็นส่วนใหญ่ และมักเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมากกว่า การใช้ไม้จริงทั้งหมดไม่นิยมในการผลิตเฟอร์นิเจอร์บิลท์-อิน อาจใช้ไม้จริงเป็นองค์ประกอบบางส่วน แต่จะไม่ใช้ไม้จริงทั้งหมด
ขอเสริมว่ามีเฟอร์นิเจอร์ไม้จริงอีกกลุ่มที่เรามักพบเห็นได้หลากหลายและราคาไม่แพง คือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยาง หรือไม้จามจุรี ซึ่งเป็นไม้ที่มีราคาถูก และส่วนใหญ่เป็นลักษณะไม้ประสาน (Joint Wood) ไม้ประสานคือการทำเศษไม้ชิ้นเล็กๆ มาแปรรูปเชื่อมต่อกันเป็นไม้ชิ้นใหญ่แล้วค่อยนำไปขึ้นชิ้นงานเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกที
แผ่น MDF / Particle Board Panel
เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันทั้งเฟอร์นิเจอร์ผลิตสำเร็จรูปแบบลอยตัว และเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน ขั้นตอนการผลิตคือใช้แผ่น MDF หรือ Particle Board Panel สำเร็จมาตัดให้ได้ขนาดและประกอบเป็นชิ้นงานเลย สามารถทำงาน knock-down ได้ คือเฟอร์นิเจอร์ผลิตมาแยกส่วนเป็นชิ้นสำเร็จรูป ลูกค้าซื้อไปประกอบติดตั้งหน้างานได้เอง
MDF กับ Particle Board คืออะไร? ต่างกันอย่างไร?
MDF (Medium Density Fiber Board) ผลิตจากการนำเศษเส้นใยพืช เศษชิปไม้ต่างๆ มาผสมกับกาวเคมีและอัดความร้อนขึ้นรูปเป็นแผ่น
Particle Board มีวิธีการผลิตคล้าย MDF แต่ใช้ชิปไม้ขนาดใหญ่กว่ามาผลิต
ข้อแตกต่างของ MDF และ Particle Board คือแผ่น MDF ใช้เศษวัสดุและเส้นใยที่ละเอียดกว่า ทำให้แผ่นมีความหนาแน่นมากกว่า มีน้ำหนักมากกว่า แข็งแรงกว่า สามารถตัดแต่งและขัดได้เรียบเนียนหมือนไม้ สามารถพ่นสีทับได้ดีกว่า Particle Board เพราะเนื้อละเอียดกว่าและไม่ดูดสีมาก
นอกจากนั้น แผ่น Particle Board และ MDF ยังมีแบบที่ปิดผิวด้วยกระดาษพิมพ์ลาย และแบบเคลือบผิวเมลามีน คือแผ่น Particle Board นำกระดาษเคลือบเมลามีนเรซินมาวางทับแล้วอัดด้วยความร้อน ผิวเมลามีนจะมีลักษณะคล้ายพลาสติก ทำให้ทนทานเรื่องความชื้น, น้ำหก และสิ่งสกปรกมากกว่าแผ่น Particle Board ทั่วไป ผิวเมลามีนนี้ทั่วไปจะทำสำเร็จมาเป็นสีสันสวยงามหรือทำมาเป็นลายไม้ หรือผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์บางรายก็ใช้แผ่นลามิเนตหรือวีเนียร์ปิดผิวทับ MDF/Particle Board
ข้อดี :
- ต้นทุนการผลิตถูกมาก เพราะสามารถผลิตจำนวนมากด้วยเครื่องจักรได้ ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงในการประกอบชิ้นงาน สามารถประกอบติดตั้งได้รวดเร็ว วัสดุก็เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่หาได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง
ข้อเสีย:
- ข้อเสียข้อใหญ่สุดเลยคือเรื่องความทนทาน วัสดุประเภทนี่อ่อนไหวต่อความชื้น และปลวก
- ชั้นวางขอไม่สามารถรับน้ำหนักมากได้ จะเกิดการแอ่นตัว อย่างไรก็ตามแผ่น MDF/Particle Board ก็มีหลากหลายเกรดและความหนา ต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- ถ้ารื้อแล้วยากที่จะนำไปใช้งานใหม่ได้ ด้วยเนื้อวัสดุที่เป็นเส้นใยมีความยุ่ย ถ้าประกอบขันน๊อตแล้วต้องการรื้อไปติดตั้งใหม่จะเสียหายจะทำได้ค่อนข้างยาก
block Board
ผลิตจากการนำไม้จริงชิ้นเล็กๆ มาต่อกันเป็นแผ่นกระดานคล้ายไม้ประสาน (Joint Wood) แล้วนำไม้อัดหรือวีเนียร์ปิดผิวทับอีกชั้น สามารถนำไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ลักษณะเป็นแผงคล้าย MDF, Particle Board หรือใช้เป็นโครงเฟอร์นิเจอร์ ข้อดีคือมีความแข็งแรงเพราะเป็นไม้จริง และมีน้ำหนักเบา
วัสดุทดแทนไม้สมัยใหม่
เนื่องจากวัสดุประเภท MDF และ Particle Board มีข้อจำกัดเรื่องความทนทานต่อความชื้น จึงเกิดการคิดค้นวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน ขอเล่าคร่าวๆ แค่ 2 ตัวก่อนครับ แล้วไว้จะเขียนรีวิวเจาะลึกอีกครั้ง
ตัวแรกคือแผ่น Plaswood ผลิตจากวัสดุประเภท PVC ทั่วไปจำหน่ายในขนาดเท่าไม้อัดคือประมาณ 1200 x 2400 มม. มีความหนามากมายหลากหลาย คุณสมบัติทนน้ำ ทนความชื้น ปลวกและแมลงไม่กิน ไม่ลามไฟ ทำงานง่ายเหมือนไม้ ข้อเสียคือราคาค่อนข้างสูง
ตัวที่สองคือ Shera Ply เป็นไม้อัดสังเคราะห์ทำจากวัสดุประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ มีคุณสมบัติทนน้ำ ทนความชื้น ปลวกและแมลงไม่กิน ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ราคาถูกกว่า plaswood แต่ทำงานด้วยยากกว่าเพราะเป็นวัสดุประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ซึ่งมีความแข็งทำให้ตัดค่อนข้างยาก และกินใบเลื่อย ต้องเปลี่ยนใบเลื่อยบ่อย
จะเห็นว่าการผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นไม่ว่าจะเป็นแบบบิลท์-อิน หรือลอยตัว สามารถผลิตได้หลายวิธีโดยใช้วัสดุได้หลากหลาย ซึ่งมีข้อดีข้อเสียและต้นทุนที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ต้องถามผู้รับเหมาตกแต่งภายในให้ชัดเจนก่อนว่าผลิตด้วยวิธีใดและใช้วัสดุแบบใด เพราะราคาจะแตกต่างกันอย่างมาก