กริด (Grid) คือตารางเส้น จะเป็นเส้นที่ไม่ปรากฎให้เห็นในงานจริง เป็นเพียงเส้นที่มีไว้เพื่อช่วยให้ออกแบบ และวาง Layout ได้ง่าย มีการจัดอย่างเป็นแบบแผนเป็นโครงสร้างกำหนดตำแหน่งการวาง บริเวณของเนื้อหา ช่องว่างเปล่าและส่วนประกอบต่างๆ แทบจะทุกๆสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องมีการสร้างกริดเพื่อเป็นพื้นฐานคอยจัดสัดส่วนประกอบต่างๆให้สวยงาม แต่ก็มีบางส่วนของนักออกแบบที่คิดว่าการมีเส้นกริดนั้นจะทำให้ขาดอิสระในการออกแบบ ท้ายที่สุดนั้นการวางเส้นกริดก็เป็นเพียงการวางแผนหลวมๆ ช่วยให้การออกแบบเกิดความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ผู้ใช้จะสามารถพลิกแพลงได้ตลอดเวลา ไม่มีกฎตายตัว การใช้กริดเป็นสิ่งที่ใช้กันมานานหลายศตวรรษแล้ว

ส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นกริด
- ยูนิตกริดหรือโมดูล (Grid unit/Module) = ส่วนประกอบที่เป็นพื้นที่ย่อยในส่วนที่เส้นแนวตั้วและเส้นแนวนอนตัดกันเป็นสี่เหลี่ยม เป็นพื้นที่สำหรับจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่หน้ากระดาษหรือพื้นที่หน้าชิ้นงานหนึ่งๆนั้นจะมี ยูนิตกริดจะมีจำนวนเท่าใดก็ได้ และขนาดของแต่ละยูนิตจะเท่ากันหรือแตกต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน
- มาจิ้น/ช่องว่างรอบขอบกระดาษ (Margins) = ช่องว่างระหว่างขอบของพื้นที่ทำงานที่มีตัวอักษรหรือภาพปรากฎกับขอบของกระดาษหรือชิ้นงานทั้งสี่ด้าน ความกว้างทั้งสี่ด้านนั้นไม่จำเป็นต้องเท่ากันแต่ควรเป็นแบบแผนเดียวกันกับทุกๆหน้า จุดนี้จะเป็นเหมือนจุดพักสายตาสำหรับผู้อ่าน
- อาล์ลีย์/ช่องว่างระหว่างยูนิตกริด (Alleys) = ช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างยูนิตที่อยู่ติดกัน อาจเป็นได้ทั้งแนวตั้งหรือแนวนอน และอาจจะเป็นได้ทั้งสองพร้อมๆกันหรือบางครั้งจะถูกเรียกว่า กัตเตอร์ (Gutters)
- คอลัมน์ (Columns) = ยูนิตที่ต่อๆกันในแนวตั้ง จะแบ่งกี่แถวก็ได้ใน 1 หน้าความกว้างของคอลัมน์ก็ไม่จะเป็นต้องเท่ากันแล้วแต่ผู้ออกแบบ
- โรว์ (Rows) = ยูนิตที่ต่อๆกันในแนวนอน
- พื้นที่ครอบคลุม (Spatial Zones) = กลุ่มของยูนิตที่อยู่ติดกันทั้งแนวตั้งและแนวนอนทำให้เกิดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ถูกนำไปใช้ส่วนที่แสดงภาพหรือกลุ่มข้อมูลตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ได้
- เส้นขวาง (Flowlines/Hanglines) = เป็นเส้นนำสายตาจากส่วนหนึ่งไปอีกส่วนหนึ่ง หรืออาจจะเป็นตัวคั่นเมื่อจบเรื่องราวหนึ่งและกำลังจะเริ่มเรื่องราวต่อไป สามารถใช้กับข้อความ รูปภาพ กลุ่มข้อมูลได้
- ตัวชี้ตำแหน่ง (Markers) = มาร์คเกอร์เป็นเครื่องหมาย

รูปแบบของกริด (Grid Types)
- เมนูสคริปต์กริด (Manuscript Grid) หรือเรียกอีกอย่างว่า บล็อกกริด(Block Grid) มีโครงสร้างเรียบง่าย เป็นบล็อกใหญ่ หรือบล็อกเดียว มีจำนวนคอลัมน์น้อยหรือบางครั้งอาจมีพียงคอลัมน์เดียว สิ่งพิมพ์ที่ใช้ หนังสือนวนิยาย ตำรา จดหมายข่าว เป็นต้น เป็นรูปแบบที่สามารถปรับแต่ง Layout ได้ ไม่จำเจ
- คอลัมน์กริด (Column Grid) มีคอลัมน์มากกว่า 1 คอลัมน์ในหน้านั้นๆ มีความสูงเกือบสุดของชิ้นงาน ความกว้างอาจไม่เท่ากัน มักพบเห็นบ่อยใน แคตตาล็อก โบรชัวร์
- โมดูลาร์กริด (Modular Grid) ประกอบด้วยหลายๆโมดูล หลายๆยูนิต จัด Layout ได้หลากหลาย ผสมผสานระหว่างหลายๆแบบได้ง่าย ข้อความ อักษร รูปภาพผสมกันได้
- ไฮราซิคัลกริด (Hierarchical Grid) เป็นรูปแบบที่โครงสร้างซับซ้อน มียูนิตที่ทั้งเท่ากันและแตกต่างกัน ยากต่อการใช้งาน จะใช้เมื่ออัตราส่วนระหว่างด้านกว้างกับด้านยาวของภาพแต่ละภาพหรือ อักษรแต่ละตัวไม่เท่ากัน เทคนิคในการใช้รูปแบบนี้คือให้นำองค์ประกอบทั้งหมดวางกองรวมกันแล้วค่อยๆจัดเข้าสัดส่วน มักเห็นบนโปสเตอร์ และฉลากผลิตภัณฑ์




ระบบกริดไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบทั้งหมดนี้อยู่ภายในหน้าเนื้อหาหรือหน้าตัวอักษร อาจมีบางอย่างและไม่มีบางอย่างก็ได้นักออกแบบมักจัดวางองค์ประกอบที่แตกต่างกันเพื่อสร้างเอกลักษณ์ในงาน ซึ่งเรามีแนวทางแนะนำสำหรับการจัดวางและการเลือกใช้เส้นกริดที่เป็นเทคนิคเล็กๆน้อยที่จะทำให้งานออกมาดูสวย สมบูรณ์ น่าอ่านมากที่สุด
- ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูป ตัวอักษรหรือหนังสือ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ผู้อ่านส่วนใหญ่มักจะมองทั้งสองหน้าพร้อมๆกันก่อนที่จะเริ่มอ่านไปยังหน้าซ้ายหรือขวาในด้านรายละเอียด ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับภาพรวมทั้งสองหน้าตอนออกแบบ ใช้กริดที่เหมือนกันทั้งหน้าซ้ายและหน้าขวา หรือใช้กริดที่มีโครงสร้างสลับกันเป็นสไตล์ Mirror
- ศึกษาลักษณะงานก่อนทั้งที่เป็นเนื้อหา อักษร หรือรูปภาพ จะมีหัวเรื่อง หมวดหมู่กี่ชั้น มีกฎเกณฑ์อะไรที่จะเกี่ยวข้องกับเนื้อหา เนื้อหายาว อักษรตัวใหญ่หรือไม่ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนๆหรือไม่ มีกรอบ หรือรูปทรงอื่นๆที่ไม่ใช่สี่เหลี่ยมหรือไม่ ต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ก่อนที่จะเลือกรูปแบบของกริดเพื่อให้สามารถทำงานออกแบบได้ง่ายที่สุด
- หากมีการวางภาพประกอบไม่จำเป็นต้องกำหนดให้อยู่เพียงใน 1 ยูนิตกริด สามารถลองให้เกินมาลองวาง 2-3 ยูนิต หรือ 2.5 ยูนิตแล้วปล่อยพื้นที่เหลือให้ว่างเปล่า
- คอลัมน์กกริดที่มีจำนวน 1-3 แถวมักจะพบเห็นได้บ่อยๆ เหมาะกับงานที่มีเนื้อหามากๆ สำหรับงานที่มีคอลัมน์ตั้งแต่ 4 แถวขึ้นไปเหมาะกับงานที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหา ภาพประกอบ บทความสั้นและยาวคละกัน
- สำหรับส่วนประกอบ Layout แต่ละหน้านั้น เช่น Alleys, Margin ไม่จำเป็นต้องเป็นช่องว่างเปล่า สามารถดันเนื้อหาหรือรูปภาพประกอบให้ล้นออกมาในบริเวณเหล่านั้นได้ แล้วสลับช่องยูนิตกริดเป็นช่องว่างเปล่าได้
- รูปแบบกริดที่มีเพียง 1-2 คอลัมน์ ให้ทดลองแบ่งคอลัมน์เป็น 2 คอลัมน์ย่อยๆอีก


สำหรับการพิมพ์ตัวอักษรหรือการวาง Layout ตัวอักษรนั้นนักออกแบบมักใช้เส้น Grids ในการลากเพื่อเป็นแนวการพิมพ์ใช้กำหนดจุดเริ่มและจุดจบของประโยคหรือคำนั้นๆ ใช้กำหนาขนาดความสูงของตัวอักษรแต่ละตัว และสามารถกะได้อย่างแม่นยำสำหรับการลดขนาดตัวอักษรลงหรือเพิ่มมันขึ้น และที่พบเห็นกันมากที่สุดในงานออกแบบคือการใช้เส้นกริดในการกำหนดตำแหน่งของสระ หรือส่วนประกอบตัวอักษรที่ต้องลอยอยู่เหนือตัวอักษรจริงๆ


