มาถึงยุคที่ดนตรีมีผลต่อการสร้างสีสันบนโลกอย่างกว้างขวาง สำหรับในต่างประเทศยุคนี้เป็นยุคที่มีวงดนตรีที่มีชื่อเสียงดังก้องไปทั่วโลกหลายๆวง และหนึ่งในวงที่เป็นอันดับ 1 ตลอดกาล คือวงดนตรีร็อก The Beatles (เดอะบีเทิลส์) หากพูดถึงยุคนี้ ผู้คนนิยมสร้างความสุขให้ตัวเองจากการเสพผลงานเพลงเหล่านั้น วงดนตรีต่างๆล้วนมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับผู้ฟังอย่างหลากหลาย เช่นเดียวกันกับงาน Art จากปกอัลบั้มเพลง โปสเตอร์ หรือแฟชั่นการแต่งตัวย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน สำหรับในบทความนี้เราจะพาคุณไปย้อนดูอิทธิพลจากบทเพลงที่ส่งผลกระทบให้กับงาน Art Design ในยุคนั้นและในยุคปัจจุบันออกมาลักษณะแบบใด
งานศิลปะส่วนใหญ่ในยุคนี้นั้นได้ไอเดียจาก Psychedelic ไซคีเดลิก ซึ่งมันมีความหมายว่า งานดนตรี วัฒนธรรม หรืองานศิลปะที่มาจากประสบการณ์การใช้ยาเสพติด งาน Art สไตล์นี้จึงถูกนำเสนอออกมาในลักษณะของงานที่มีสีสัน ลวดลายฉูดฉาด และมีการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือปกอัลบั้ม Sgt Pepper’s Lonely Hearts Club Band (1967) ของ The Beatles เป็นปกอัลบั้มที่เน้นสไตล์การตัดแปะและสีสันฉูดฉาดสวยงามจนได้รับรางวัล Grammy Awards สาขาปกอัลบั้มยอดเยี่ยมประเภท Graphic Art ปี 1968

งานปกอัลบั้มในยุคนั้นมีงานแฟชั่นเข้าไปสอดแทรกมากกว่าหลายๆยุคที่ผ่านมา เนื่องจากวงดนตรีส่วนใหญ่เริ่มมีการดึงศิลปินสายศิลปะโดยตรงมาออกแบบปกอัลบั้มกันมากยิ่งขึ้นเช่น Andy Warhol (แอนดี้ วอร์ฮอล), Storm Thorgerson (สตรอม ธอร์เจอร์สัน), Aubrey Powell (ออเบรย์ โพเวลล์) เป็นสามคนที่สร้างงานออกมาและมีความสำคัญต่อยุค 60s และยุคหลังจากนั้นเป็นต้นมา



ผลงานดังๆที่ออกมาจากศิลปินเหล่านี้มีมากมายและสร้างงานออกมาในสไตล์ใหม่ๆที่นักออกแบบคนอื่นๆไม่เคยทำมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น งาน Velvet Underground & Nico (1967) ปกอัลบั้มอันโด่งดังที่มีเพียงรูปกล้วยสีเหลืองอยู่บนปก

และนอกไปจากนั้นดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษสองคน Storm Thorgerson และ Aubrey Powell ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Hipgnosis เป็นกลุ่มศิลปินนักออกแบบกราฟิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุค 60s-70s ออกแบบและทำปกอัลบั้มยุค Classic ให้กับศิลปินชื่อดัง วงดนตรีร็อกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกเช่น Pink Floyd, T.Rex, UFO, BAD Company, AC/DC เป็นต้น ลักษณะงานของกลุ่มนี้พวกเขาออกแบบปกอัลบั้มให้กับศิลปินโดยให้ศิลปินเป็นผู้ตั้งราคาออกแบบเองทุกปก ตัวอย่างงานที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากคือปกอัลบั้มที่ขายดีที่สุดของ Pink Floyd เป็นงานภาพกราฟิกของแท่งสามเหลี่ยมปริซึมที่ถูกยิงด้วยเส้นแสงและฉายแถบสีสเปกตรัมออกมาบนพื้นสีดำ ได้รับโหวตให้เป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลอันดับ 2 รองจากปกอัลบั้ม Sgt Pepper’s Lonely Hearts Club Band (1967) ของ The Beatles

งานอีกสไตล์ของนักออกแบบกลุ่มนี้คืองานที่มาจากภาพถ่ายจริง ที่ถูกถ่ายออกมาอย่างงดงามและมีคอนเซ็ปต์ยกตัวอย่างเช่น รูปบอลลูฯหมูที่ลอยอยู่บนฟ้าเหนือโรงไฟฟ้า Battersea Power Station ในลอนดอน ถูกนำมาทำปกอัลบั้ม Animal ของ Pink Floyd

มีหลายๆแบรนด์ที่นำไอเดียการออกแบบปกอัลบั้มในยุคสมัยนั้นมาเป็นแบบอย่าง หรือสร้างสรรค์ต่อเช่น Gucci รีอิมเมจและสร้างแคมเปญสไตล์ยุค 70s ที่ออกภาพโฆษณาเป็นภาพฟุ้งๆ ในคอลเลคชั่นใหม่ที่ชื่อ GG Psychedelic Collection ของนักออกแบบชื่อ Alessandro Michele เปลี่ยนมุมมองให้สดใหม่สำหรับสินค้ากลุ่ม Ready-to-wear ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นที่ได้ไอเดียจากสไตล์ของ Psychedelic มาอย่างชัดเจน
อีกหนึ่งอิทธิพลจากศิลปะยุคนั้นที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก วอร์ฮอล ถูกจัดแสดงขึ้นบนเวทีรันเวย์ระดับโลก แบรนด์ดังอย่าง Calvin Klein นำผลงานภาพพิมพ์ของเขาออกแบบมาใช้สร้างลวดลายในคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าฤดูใบไม้ผลิปี 2018 หรือนอกไปจากนั้นแบรนด์ดังอย่าง Uniqlo ก็ได้นำผลงานของวอร์ฮอลมาสกรีนใส่เสื้อยืดด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งศิลปินสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ Roger Dean เขาสร้างสรรค์ผลงานและเริ่มมีชื่อเสียงในปี 70s เป็นยุคที่ Prog music รุ่งเรือง มีจำนวนวงและผลงานเพลงที่มากมาย เขาได้ออกแบบและสร้างสรรค์ปกอัลบั้มให้กับวงดนตรีเหล่านั้น งานออกแบบของเขาเกือบทุกชิ้นเป็นภาพวาดทั้งหมด และเป็นภาพวาดที่มีรายละเอียดคมมากทั้งสีและลายเส้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นภูมิทัศน์ที่เป็นโลกอีกใบในจินตนาการ ยกตัวอย่างเช่น ปกอัลบั้มของ Uriah Heep ยูไรอาฮีปวงร็อกจากลอนดอน และวง Yes


และแบรนด์ Valentino ได้นำแนวแฟนตาซีของ Roger Dean มาเป็นแพตเทิร์นลงบน เสื้อเชิต, สเวตเตอร์, แจ็กเก็ตเชิต และจัดโชว์ในงานแฟชั่นวีคเมือง Paris ประเทศฝรั่งเศส ในคอลเลกชัน Spring/Summer 2020