TYPE OF CUTS : เทคนิคการตัดต่อและถ่ายทำ

TYPE OF CUTS

สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนต์นั้น ขั้นตอนการตัดต่อเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างมีความสำคัญ หนังที่ต้องการเล่าเรื่องทั้งหมดให้ผู้ชมเข้าใจและอินกับเนื้อเรื่องนั้นจำเป็นต้องเล่าให้ออกมาเพียง 2-3 ชั่วโมงในลักษณะของภาพยนต์ ดังนั้นจังหวะการตัดต่อซีนต่างๆนั้นจึงมีส่วนสำคัญ ฉากบางฉากสามารถเพิ่มความน่าสนใจได้เมื่อมาประกบต่อกันหรือบางฉากก็แยกออกจากกันแล้วดูน่าสนใจก็ได้เช่นเดียวกัน

ในบทความนี้เราจะพูดกันถึงเรื่องลักษณะการตัดต่อในภาพยนต์ว่าโดยปกติแล้วมีแบบใดบ้าง และมีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นอย่างไร

HARD CUT

เป็นการตัดต่อในรูปแบบมาตรฐานที่พบเจอบ่อยที่สุด Hard Cut คือการตัดไปอีกฉากหนึ่งโดยทันทีลองดูตัวอย่างจากภาพยนต์ด้านล่าง เป็นเหมือนการเล่าเรื่องจังหวะง่ายๆที่ตัดฉากขี่มอเตอร์ไซค์แล้วฉากจบเป็นฉากการเสียชีวิตของตัวละคร ซึ่งความต่อเนื่องของฉากจะสอดคล้องกัน สื่อให้เห็นความเป็นเหตุและผลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

CROSS CUT

การตัดแบบขวาง Cross Cut เป็นอีกหนึ่งในลักษณะการตัดต่อที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยมเช่นเดียวกันกับ Hard Cut เป็นการตัดฉากระหว่างวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมในฉากถัดไป เช่น ฉากคุยโทรศัพท์ระหว่างบุคคล 2 คน ที่มีการใช้โทรศัพท์เป็นตัวประสานระหว่างคนสองคน ลองชมตัวอย่างการตัดต่อจากภาพยนต์เรื่อง Women on the Verge of a Nervous Breakdown ด้านล่าง

JUMP CUT

การตัดต่อฉากต่อฉากที่เป็นลักษณะการกระโดดคัตกลับไปกลับมา เพื่อให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในจังหวะที่ต่อเนื่อง เป็นการตัดฉากไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ฉากๆนั้นเล่าเรื่องออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายและเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยไม่ให้เสียเวลาของภาพยนต์มากจนเกินไป

CUTAWAYS

เป็นการตัดต่อที่มักพบบ่อยในภาพยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นในอดีตอยู่บ่อยครั้ง และอาจมีให้พบเห็นในภาพยนต์ในปัจจุบันในหลายๆเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งการตัดต่อและถ่ายทำในลักษณะนี้นั้นจะเป็นเหมือนการถ่ายมุมต่างๆที่อยู่ในสถานการณ์หลักเพื่อให้เห็นความต่อเนื่องและภาพรวมได้มากที่สุด โดยเทคนิคสำคัญของการถ่ายทำเพื่อตัดต่อในลักษณะนี้คือการถ่ายให้เห็นการกระทำหลักของซีนนั้นๆอยู่ไกลๆหรือมุมใดมุมหนึ่ง สามารถดูตัวอย่างได้จากฉากหนังภาพยนต์เรื่อง The Godfather ที่เป็นฉากงานแต่งงานและใช้ Cutaways เป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่องต่างๆที่เกิดภายในงาน

MATCHCUT

เป็นการตัดที่มีลักษณะที่จะคอยช่วยเล่าเรื่องให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น มักใช้กับการเล่าถึงวิวัฒนาการ เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เหมือนๆกันหรือเกี่ยวข้องกัน หรือสองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นพร้อมๆกันในคนละสถานที่ เป็นต้น ยกตัวอย่างจากภาพยนต์เรื่อง A Space Odyssey (2001) ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างยุคดึกดำบรรพ์และอนาคตคือฉากโยนเครื่องมือขึ้นบนอากาศเพื่อโยงเรื่องไปสู่อนาคตในอวกาศนั่นเอง

Match Cut นั้นยังสามารถแบ่งออกย่อยๆอีกเป็นอีกหลายๆเทคนิค ซึ่งสามารถใช้องค์ประกอบอื่นๆของซีนเช่นเสียง ภาพที่คล้ายกัน กราฟิค คอมพิวเตอร์กราฟิก Movement ของตัวละครหรือวัตถุ ลองดูตัวอย่างได้จากวิดีโอด้านล่างนี้

CONTRAST CUT

จะเป็นการตัดต่อที่มีลักษณะตรงข้ามกันกับ Macth Cut ซึ่งจะตัดอารมณ์คนดูให้ตรงข้ามกันหรือขัดกันในแต่ละฉากที่ต่อกัน เพื่อสร้างความแตกต่าง มักจะถูกใช้บ่อยเพื่อเน้นย้ำถึงอารมณ์หรือการกระทำที่ขัดกันในสถานการณ์นั้นๆ เช่น แสดงความรู้สึกเศร้าโศก หรือดีใจในช่วงขณะหนึ่งในซีน

การใช้งาน Contrast Cut นั้นต้องระวังเรื่องความรู้สึกขัดใจเมื่อได้ชมจากผู้ชม หากไม่ได้มีการวางแผนหรือใช้งานการตัดต่อในลักษณะนี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดขึ้นได้ ลองชมตัวอย่างภาพยนต์เรื่อง La Vie En Rose ที่เป็นฉากการแสดงร้องเพลงที่ถูกตัดสลับกับซีนคนที่กำลังป่วยใกล้เสียชีวิตกับเด็กที่อยู่ในทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นการแสดงความแตกต่างจากทั้งสองซีนอย่างชัดเจนโดยมีดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นจากการใช้เทคนิคการตัดต่อภาพยนต์ที่เคยมีมา ภาพยนต์หลายๆเรื่องจำเป็นต้องใช้หลายๆเทคนิคเข้าร่วมกันเพื่อสร้างงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ในทางกลับกันภาพยนต์บางเรื่องอาจใช้แค่บางเทคนิคแต่กลับได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นจำนวนมากและกลายเป็นภาพยนต์ชื่อดังไป การใช้เทคนิคเหล่านี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเภทและลักษณะเนื้อเรื่องของภาพยนต์ของคุณ รวมถึงการวางแผนฉากแต่ละฉากให้ดีก่อนเพื่อจะนำการตัดต่อมาใช้และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.