สำหรับในประเทศไทยคุณอาจเคยเห็นตู้คอนเทนเนอร์มาแล้วตั้งแต่ขนาด 20 ฟุต และ 40 ฟุต ไปจนถึง 45 ฟุต ซึ่งเป็นขนาดตู้มาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม จนมีหน่วยในการนับปริมาณตู้คือ TEUs ที่ย่อมาจาก Twenty Foot Equivalent Units โดยเทียบกับปริมาณตู้ที่ขนาดเริ่มต้นตั้งแต่อดีตคือ 20 ฟุต นั่นเอง สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดตู้ไซซ์อื่นๆ ได้ที่ลิงก์นี้ : รู้ประวัติความเป็นมาของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์
สำหรับในบทความนี้เราจะพูดกันถึงตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 53 ฟุตที่มีความยาวเป็นพิเศษเพิ่มมาจากขนาดมาตรฐานที่มีอยู่ ถูกใช้สำหรับการขนส่งในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ทั้งทางถนนและทางรถไฟตั้งแต่สมัยปี 1989 โดยตู้ขนาดนี้จะให้พื้นที่ปริมาตรภายในตู้ที่เพิ่มขึ้นมาจากตู้ 40 ฟุต มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ขนาดตู้ 53 ฟุต
เพื่อให้เห็นภาพเราขอเปรียบเทียบขนาดกับตู้ 40 ฟุตที่เรามักจะพบเห็นมากที่สุดในประเทศไทย
ขนาดตู้ 40 ฟุต
ยาว 12.19 เมตร
กว้าง 2.4 เมตร
สูง 2.89 เมตร
ปริมาตรภายในทั้งหมด 75.3 ลบม.
พื้นที่ใช้สอย 29.72 ตรม.
ขนาดตู้ 53 ฟุต
ยาว 16.15 เมตร
กว้าง 2.59 เมตร
สูง 2.89 เมตร
ปริมาตรภายในทั้งหมด 121 ลบม.
พื้นที่ใช้สอย 41 ตรม.
การใช้งานตู้ 53 ฟุต
ตู้ขนาด 53 ฟุตถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อขนส่งสินค้าทั้งทางถนนและทางรถไฟทั่วทั้งสหรับอเมริกา รวมถึงแคนาดา มีการใช้งานตู้ลักษณะนี้เป็นปกติหลายพันตู้ เป็นตู้ที่เหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าข้ามทวีป เนื่องจากมันมีปริมาตรที่สามารถบรรจุมากขึ้นจากตู้ขนาดปกติ จนในปี 2007 บริษัท APL ได้เริ่มใช้ตู้ 53 ฟุตในการขนส่งสินค้าข้ามระหว่างประเทศทางทะเลในเส้นทางจากจีนกับสหรัฐอเมริกา แต่ตู้ขนาด 53 ฟุตนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในการขนส่งทางทะเล ไม่แข็งแรงพอที่จะทนต่อความรุนแรงในการขนส่งทางทะเลจึงเป็นที่นิยมในการเปลี่ยนถ่าย ขนย้ายสินค้าจากชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาจากตู้ 20,40 หรือ 45 ที่ลงจากเรือมาย้ายมาบรรจุในคอนเทนเนอร์ขนาด 53 ฟุตและขนส่งต่อด้วยรถไฟไปยังปลายทาง
ภายหลัง APL กำลังมองหาและพัฒนาคอนเทนเนอร์ 53 ฟุตสร้างความแข็งแรง และออกแบบให้ทนทานต่อการเดินทางในมหาสมุทร เพื่อลดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งเพียงครั้งเดียวจากโรงงานต้นทางไปจนถึงปลายทางโดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้า
ข้อดีของตู้ขนาด 53 ฟุต
- พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมาสามารถช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าที่มากยิ่งขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยของของที่อยู่ภายในตู้ก็จะลดลงเช่นเดียวกัน
- มีความยืดหยุ่นต่อการจัดการสินค้าภายในตู้ได้มากขึ้น สามารถจัดสรรพื้นที่ได้สะดวก และสำหรับบางเส้นทางที่ตู้ขนาด 53 ฟุตสามารถเดินทางลงมหาสมุทรได้จะช่วยลดขั้นตอนในการขนย้ายสินค้าจากโรงงานไปสู่รถไฟและลงเรือได้ภายในตู้เดียว
- ความแออัดของ Supply Chain ในระบบการขนส่งทางเรือจะลดน้อยลงเนื่องจากตู้ขนาด 53 ฟุต 2 สองตู้จะเท่ากับตู้ 40 ฟุต 3 ตู้จึงทำให้ใช้เวลาในการขนย้ายเปลี่ยนถ่ายที่เร็วกว่า
