รู้ประวัติความเป็นมาของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์

history container ship

สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การนำเข้าและส่งออก หรือการส่งของไปยังต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้พื้นที่และปริมาตรที่มีอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประหยัดต้นทุนการจัดส่ง และเกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเอง

หากพูดถึงระบบการส่งของด้วยตู้คอนเทนเนอร์นั้น เป็นระบบที่มีไว้เพื่อควบคุมและสร้างมาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่บนเรือเดินสมุทร รถบรรทุกส่งของ รถไฟส่งสัมภาระ ตลอดจนการ โหลดของเข้าเครื่องบิน อุปกรณ์ทุกอย่างจะต้องทำงานสอดคล้องกับขนาดและตัวยึดของตู้คอนเทนเนอร์ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก คุณจึงไม่แปลกใจหากเห็นการใช้งานจริงที่สามารถสลับตู้ไปมาหรือใช้อุปกรณ์ที่พอดีกับขนาดของตู้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น รถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้ในการขนส่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการใช้งานเกี่ยวกับระบบขนย้ายพาเลทที่ใช้ด้วยกันได้ทั่วโลก

จึงเป็นที่มาของคำว่า Containerization หรือ การทำทั้งระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐาน Container นั่นเอง

โลกเราอาจมีระบบมือถือหลายระบบที่มีการใช้งานที่แตกต่างกัน มีระบบวัดระยะต่างๆ เช่น หน่วยวัด ระยะทาง น้ำหนัก ระบบปลั๊กไฟหลายระบบ แต่ระบบการขนส่งด้วย Container จะเป็นระบบที่มีระบบเดียวใช้กันทั่วโลก

Malcom-McLeanระบบมาตรฐานของโลกนี้ เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญของ Malcom McLean (มัลคอม แมคเลน) บิดาแห่งตู้คอนเทนเนอร์ ในประมาณปี 1956 มัลคอมสังเกตุเห็นว่า ในอดีตนั้นเวลาขนของขึ้นเรือจะต้องขนทีละชิ้นทีละกล่องทีละกระสอบขึ้นไปบนเรือ หรือเรียกว่าระบบ Break Bulk และเมื่อไปถึงที่หมาย ก็ต้องขนลงทีละชิ้นๆ ซึ่งทำให้เสียเวลามาก บางทีเรือต้องจอดถึง 7 วันเพื่อขนของขึ้น และ อีก 7 วันเพื่อขนของลง รถที่มาส่งของก็ต้องจอดรอนานๆเสียเวลามาก เขาจึงเกิดไอเดียในการที่จะยกทั้งตู้คอนเทนเนอร์ไปไว้บนเรือเพื่อประหยัดเวลา

มัลคอมไปกู้เงินธนาคารมา และมาออกแบบใหม่ทั้งเรือ ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่าการส่งของด้วยคอนเทนเนอร์ ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน ทำให้การส่งของทางเรือถูกและรวดเร็วกว่าเดิม จนเกิดการเปลี่ยนแปลงกับระบบการขนส่งทางเรือไปทั้งโลก และรวมถึงระบบ Supply Chain ที่ออกแบบให้มารองรับกับระบบ Container อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ดังนั้นการออกแบบกล่อง พาเลท หรือการแพ็คบรรจุแต่ละครั้งให้สอดคล้องกับระบบ Containerization จึงเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ

    การขนส่งทางทะเล เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญกับระบบขนส่งทั่วโลกเป็นอย่างมาก สามารถขนส่งผ่านน่านน้ำและเชื่อมต่อกับแผ่นดินได้ทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถขนส่งสินค้าไปยังที่ใดๆก็ได้บนโลก และขนส่งสินค้าได้คราวละมากๆ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีราคาต่ำที่สุด จึงได้รับความนิยมเสมอมา ซึ่งรูปแบบการขนส่งทางทะเลในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการขนส่งด้วยระบบ ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นหลัก

 ตู้คอนเทนเนอร์ (Container Box) คือ ตู้ภาชนะที่ผลิตมาเพื่อใช้สำหรับบรรจุสินค้าเพื่อใช้ในการขนส่งทางเรือ มีลักษณะที่แตกต่างกันหลายสีสัน หลายขนาด และหลายประเภท เพื่อให้เกิดการขนส่งที่สะดวก ปลอดภัย และเหมาะสมกับสินค้าประเภทนั้นๆ

เนื่องจากการขนส่งทางเรืออาจกินระยะเวลาที่ยาวนาน โดยทั่วไปมักใช้การขนส่งอย่างน้อย 15 วันขึ้นไป จึงต้องมี คอนเทนเนอร์ ที่เหมาะสมในการขนส่งสินค้าแต่ละประเภท รวมถึงคุณสมบัติของตู้ด้วย ซึ่งการเลือกใช้ต้องเลือกให้เหมาะสมกับประเภทของสินค้า และปริมาณสินค้าที่จัดส่ง

ขนาดของตู้คอนเทนเนอร์

ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการใช้งานในการขนส่งอยู่นั้นมีหลายขนาด โดยขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สำหรับสินค้าที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์, เครื่องสำอาง, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า, อาหารแห้ง, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้หรือเหล็ก รวมไปถึง สินค้าอันตรายต่างๆ เป็นต้น มี 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. ตู้คอนเทนเนอร์ Container ขนาด 20 ฟุต (20”GP)

   – ขนาดภายนอก มีความยาว: 6.05 เมตร (19.85 ฟุต) / กว้าง: 2.43 เมตร (7.97 ฟุต) / สูง: 2.59 เมตร (8.5 ฟุต)

    – ขนาดภายใน มีความยาว: 5.86 เมตร (19.23 ฟุต) / กว้าง: 2.35 เมตร (7.71 ฟุต) / สูง: 2.38 เมตร (7.81 ฟุต)

มีปริมาตรสูงสุดประมาณ 33 คิวบิกเมตร มีน้ำหนักประมาณ 2.2 ตัน และสามารถโหลดสินค้าได้สูงสุดประมาณ 21-28 ตัน จึงเหมาะสมกับสินค้าที่มีน้ำหนักเยอะ เช่น เครื่องจักร

2. ตู้คอนเทนเนอร์ Container ขนาด 40 ฟุต (40”GP)

สำหรับตู้ขนาด 40 ฟุต จะมีความยาวเท่ากับตู้ขนาด 20 ฟุตสองตู้

 – ขนาดภายนอก มีความยาว: 12.19 เมตร (40 ฟุต) / กว้าง: 2.43 เมตร (8 ฟุต) / สูง: 2.6 เมตร (8.5 ฟุต)

 – ขนาดภายใน มีความยาว: 12.03 เมตร (39.47 ฟุต) / กว้าง: 2.35 เมตร (7.71 ฟุต) / สูง: 2.38 เมตร (7.81 ฟุต)

มีปริมาตรสูงสุดประมาณ 67-77 คิวบิกเมตร มีน้ำหนักประมาณ 3.8 ตัน และสามารถโหลดสินค้าได้สูงสุดประมาณ 26-27.5 ตัน เหมาะกับสินค้าประเภท Dry Cargo หรือสินค้าเบาที่มีจำนวนมาก

3. ตู้คอนเทนเนอร์ Container ขนาด 40 ฟุตไฮคิวบ์ (40”HC)

อีกประเภทหนึ่งคือตู้ขนาด 40 ฟุตไฮคิวบ์

   – ขนาดภายนอก มีความยาว: 12.19 เมตร (40 ฟุต) / กว้าง: 2.43 เมตร (8 ฟุต) / สูง: 3 เมตร (9.84 ฟุต)

 – ขนาดภายใน มีความยาว: 12.03 เมตร (39.47 ฟุต) / กว้าง: 2.35 เมตร (7.71 ฟุต) / สูง: 2.70 เมตร (8.86 ฟุต)

สามารถโหลดสินค้าได้สูงสุดประมาณ 26 ตัน มีปริมาตรสูงสุดประมาณ 75 คิวบิกเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3.9 ตัน เหมาะสำหรับสินค้าเบาที่มีจำนวนมากและมีขนาดใหญ่

ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตแบบทั่วไป และแบบไฮคิวบ์จะแตกต่างกันที่ส่วนสูงภายในเท่านั้น และนอกจากนี้ ในบางสายเรือยังอาจมีตู้ขนาดยาว 45 ฟุตให้บริการด้วย

ทั้งหมดนี้คือประวัติความเป็นมาของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และปัจจุบันมีตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้กันอยู่กี่ประเภท สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะส่งสินค้าทางเรือ เผื่อคุณมีโอกาสได้ใช้บริการตู้คอนเทนเนอร์หรือการขนส่งทางเรือในอนาคต

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.