อย่างที่ทราบกันดีโดยทั่วไปคลังสินค้าจะทำหน้าที่จัดเก็บสินค้า, วัตถุดิบ หรือเก็บงานระหว่างการผลิต เป็นหลัก
แต่ทราบกันหรือไม่ คลังสินค้านั้นจริงๆแล้วสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
โดยจะขึ้นอยู่กับการแบ่งประเภท โดยจำแนกหลัก ๆ ได้ดังนี้
1. ตามลักษณะธุรกิจ 2. ตามลักษณะงาน และ 3. ตามลักษณะสินค้า
1. ประเภทของคลังสินค้าแบ่งตามลักษณะธุรกิจ
คลังสาธารณะ (Public Warehouse)

เนื่องจากคลังเก็บสินค้าสาธารณะจะมีสินค้าที่มาจากหลายๆบุคคลที่เป็นเจ้าของและมาฝากสินค้าโดยจ่ายค่าเช่าในการจัดเก็บ ทำให้คลังสินค้าประเภทนี้สินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายในพื้นที่ และองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้าก็จำเป็นต้องออกแบบให้ยืดหยุ่นกับสินค้าแต่ละประเภทด้วยเช่นกัน

ข้อดี
- ไม่เสียต้นทุนในการลงทุนสร้างคลังสินค้าของตัวเอง
- สามารถใช้งานพื้นที่จัดเก็บตามการจัดเก็บสินค้านั้น ๆ จริง สำหรับโรงงานขนาดเล็กที่มีคลังสินค้าของตัวเองอาจใช้พื้นที่ไม่คุ้ม
- มีความชำนาญจากผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าคอยจัดการสินค้าให้กับคุณ
- ไม่ต้องรับความเสี่ยงในการจัดเก็บ
ข้อเสีย
- การดำเนินงานอาจช้ากว่าคลังสินค้าส่วนตัวเนื่องจากต้องใช้หลายขั้นตอน
- ไม่มีบริการพิเศษบางประเภท อาจไม่ได้ยืดหยุ่นเท่ากับคลังสินค้าส่วนตัว
- ต้องรับความเสี่ยงหากคลังสินค้าเต็มในบ้างช่วง
คลังสินค้าประเภทนี้เหมาะกับโรงงานที่มีขนาดเล็กและผลิตสินค้าออกมาในจำนวนที่ไม่มาก ไม่อยากเสียต้นทุนในการจัดตั้งคลังสินค้าของตัวเอง หรือโรงงานขนาดอื่น ๆ ที่มีการผลิตและไม่ได้มีจำนวนสินค้าในสต๊อกที่มีจำนวนเยอะ ระยะเวลาในการการจัดเก็บสินค้าแต่ละครั้งสั้น เป็นต้น
คลังสินค้าส่วนตัว (Private Warehouse)

คลังสินค้าประเภทนี้ตามชื่อคลังสินค้าส่วนตัว (Private) เป็นคลังสินค้าที่ใช้เก็บสินค้าเฉพาะของตัวเองเท่านั้น

ข้อดี
- สามารถควบคุมการดำเนินงานได้ง่าย
- มีต้นทุนต่ำกว่าในระยะยาว
- สามารถใช้งานแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีความยืดหยุ่นสูงสามารถจัดการและออกแบบตามความต้องการเฉพาะ
ข้อเสีย
- ข้อจำกัดทางด้านเงินลงทุน
- เสียโอกาสจากเงินลงทุน
- มีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ตามมาจากเงินลงทุน เช่น การดำเนินงาน การดูแลคลังสินค้า
2. คลังสินค้าประเภทตามลักษณะงาน
คลังสินค้าแบบศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC)
ทำหน้าที่เป็น คลังสินค้า (Warehouse) และเป็น หน่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต กับ ผู้ขายปลีก จะเป็นผู้ให้บริการทางด้านการจัดเก็บสินค้าและการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ อย่างทันเวลาและถูกต้องตรงตามความต้องการ
DC ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการภายนอก(Outsource) หรือ Third Party Logistics Service Providers (3PL) จะรับสินค้าจากผู้ผลิตแต่ละรายมาเก็บในคลังสินค้าของตน โดยส่งสินค้าแทนผู้ผลิตไปสู่ผู้รับ
ผู้ผลิตสามารถขนส่งมาที่ DC เพียงแห่งเดียว โดย DC จะทำการกระจายสินค้าสู่ผู้ขายปลีกตามที่ผู้ขายปลีกต้องการ โดยผู้ขายปลีกไม่จำเป็นต้องมีที่เก็บสินค้าคงคลังจำนวนมาก
ข้อได้เปรียบของคลังสินค้าประเภท Distribution Center
- ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของผู้ผลิต ไปสู่ผู้ค้าปลีกหรือลูกค้าแต่ละราย
- ค่าใช้จ่ายส่วนสินค้าคงคลังของร้านขายปลีกลดลง ทำให้มีความได้เปรียบในด้านการแข่งขันทั้งด้านราคาและความรวดเร็วในการบริการ
คลังสินค้าแบบศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross Dock)
เป็นคลังสินค้าที่ใช้ในการ รับ และ ส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน หรือ ขนถ่ายจากพาหนะหนึ่งไปสู่อีกพาหนะหนึ่ง โดย Cross Dock จะทำหน้าที่เป็นสถานีที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ซึ่งอาจเปลี่ยนจากสินค้าที่มาจากซับพายเออร์หลายราย แล้วนำมาคัดแยกรวมรวม บรรทุก เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านผู้ขายปลีก หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะมี ความต้องการสินค้าย่อยที่หลากหลาย

จะเห็นได้ว่า Cross Docking และ Distribution Center มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของลักษณะงานในส่วนของการรวมสินค้าจากหลายแหล่ง แล้วกระจายไปยังร้านค้าอื่นๆ หากแต่จะมีรายละเอียดภายในคลังสินค้าที่ต่างกัน ดังนี้

Cross docking จะมีระยะเวลาในการเก็บสินค้าที่สั้นกว่า DC คือจะน้อยกว่า 24 ชม. และจะมีขั้นตอนในการรับและส่งของที่รวดเร็วกว่า DC คือจะไม่มีการกระจายสินค้า (Put away) และไม่มีการเติมสินค้า(Replenishment) และไม่ต้องมาหยิบสินค้าจากชั้นวางใหม่ เพียงนั่นเอง
คลังสินค้าแบบ Fulfilment Center
หัวใจหลักของการทำงานจะคล้ายคลึงกับ 2 ประเภทด้านบน (DC และ Cross Dock) คือ คลังสินค้าที่รับสินค้าจากบริษัทในเครือ, บริษัทลูก หรือจากบริษัทใดๆ แล้วนำสินค้ามาจัดการใส่บรรจุภัณฑ์ บรรจุสินค้าลง Package และจัดส่งสินค้าให้ พร้อมกับมีคลังให้เก็บสินค้าได้ด้วย เป็นเหมือนการรวมตัวของทั้ง 3 บริการ
ซึ่งวิธีการนี้ จะทำให้การจัดส่งของออนไลน์สะดวกสบายมากขึ้น เพราะ Fulfilment Center จะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งสินค้าแทนทั้งหมด รวมถึงการออกค่าจัดส่งสินค้าให้ก่อนด้วย สิ่งเดียวที่ผู้ขายต้องทำ คือ การส่งสินค้ามาให้ทางคลัง Fulfilment Center เก็บรวบรวม และส่งรายละเอียด Order ให้ทางคลัง
การให้บริการแบบคลังสินค้าประเภท Fulfilment Center ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน คือ Amazon ถูกเรียกว่า Fulfillment By Amazon หรือ Amazon FBA นั่นเอง ดูข้อมูลเกี่ยวกับ Amazon FBA ได้ที่ลิงก์นี้
3. คลังสินค้าประเภทตามลักษณะสินค้าที่เก็บรักษา
คลังสินค้าทั่วไป
ทำหน้าที่เก็บสินค้าหลากหลายที่ไม่ต้องการการรักษาดูแลเป็นพิเศษ อาทิเช่น สินค้าอุปโภคและเครื่องใช้สอยทั่วไป เป็นต้น
คลังสินค้าของสด
ทำหน้าที่เก็บสินค้าที่เป็นของสด อาทิเช่น อาหาร ผัก ผลไม้ และ เครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ต้องการการรักษาดูแลเป็นพิเศษด้วยการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้า
คลังสินค้าอันตราย

อาทิเช่น สารพิษ สารเคมี เชื้อเพลิง และ วัตถุระเบิด เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการจัดการคลังสินค้าประเภทนี้ !!!!
– ต้องจัดการแยกประเภทของวัตถุอันตรายและจัดเก็บให้เหมาะสมตามหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์ของวัตถุนั้นๆ
– ต้องมีผู้ควบคุมดูแลระบบบำบัดมลพิษ ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
– การจะสร้างคลังสินค้าประเภทนี้ จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง
คลังสินค้าพิเศษ (ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น)

มักจะมีขนาดเล็ก เพื่อใช้เก็บสินค้าที่มูลค่าสูง ซึ่งต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม เพื่อคงคุณสมบัติของสินค้าไว้ให้มีอายุยืนยาว ตัวอย่างสินค้าได้แก่ ยา และเครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงสารเคมีบางชนิด
สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการจัดการคลังสินค้าประเภทนี้ !!!!
– ต้องมีการศึกษารายละเอียดเฉพาะทางเกี่ยวกับการเก็บสินค้าเหล่านี้เพิ่มเติม และต้องผ่านการขออนุญาตอย่างถูกต้อง
การเลือกใช้บริการคลังสินค้าแต่ละประเภทนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะของผู้ที่ใช้งานคลังสินค้านั้น ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงหลาย ๆ ปัจจัยทั้งด้านข้อจำกัดต่างๆ งบประมาณ ความสะดวกสบาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด