การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management)
เป็นการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในคลังสินค้าเริ่มตั้งแต่การรับ จัดเก็บ หยิบสินค้า จ่ายสินค้าออกจากคลัง เพื่อลดความสูญเสียจากการดำเนินงาน และสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่คลังสินค้าได้อย่างเต็มที่ภายใต้ต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำที่สุด และใช้เวลาสั้นที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กระบวนการทำงานหลักๆ ภายในคลังสินค้า ประกอบด้วย
1. การรับสินค้า (Receiving) ซึ่งการตรวจรับสินค้ากี่ชนิด อะไรบ้าง จำนวนเท่าใด สภาพสินค้าเมื่อเทียบกับเอกสาร/ข้อมูลจากใบ PO เพื่อรับสินค้าเข้าสู่คลังสินค้า เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีความแตกต่างและหลากหลาย ที่สำคัญจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องรับผิดชนิด/ผิดจำนวนได้ ดังนั้น การรับข้อมูลรายการสินค้าในการผ่านระบบเทคโนโลยีจำเป็นต้องสร้างระบบฐานข้อมูลที่ทำให้สามารถจัดสรรพื้นที่และวางสินค้าในชั้นเก็บของได้ล่วงหน้า หากมีการนำระบบBarcode มาใช้ก็สามารถใช้ Barcode ที่มาพร้อมสินค้าหรือจัดทำระบบ Barcode ขึ้นเองก็ได้
2. การจัดเก็บเข้าชั้น (Put-away) เก็บที่ไหน ระบุตำแหน่งที่ต้องการจัดเก็บสินค้า บล็อกตำแหน่งจัดเก็บสินค้าใช้เกณฑ์ต่าง ๆ เช่น อัตราการหมุนเวียน ประเภทสินค้า ขนาด น้ำหนัก ฯลฯ การขนสินค้าเข้าสู่ตำแหน่งจัดเก็บ การยืนยันการจัดเก็บตามตำแหน่งที่กำหนด ที่สำคัญจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดเก็บผิดสถานที่ รวมถึงการกำหนดลำดับงานและเส้นทางในการจัดเก็บสินค้าที่เหมาะสมด้วย
3. การหยิบสินค้า (Picking) เป็นกิจกรรมที่ใช้เวลามากที่สุด เหมือนกับการเดินหาซื้อของในห้างสรรพสินค้าจะเสียเวลาทั้ง ๆ ที่จดรายการมาจากบ้าน เนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้ในการเดินและค้นหา การจัดโหลดการขนส่ง การวางแผนการหยิบสินค้า (หยิบที่ไหน หยิบอย่างไร เส้นทาง/วิธีการ) เกณฑ์ในการหยิบ เช่น FIFO FEFO หยิบสินค้าตามตำแหน่งและปริมาณที่ระบุ ที่สำคัญจะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องการตรวจเช็คซ้ำ การวางโปรแกรมประมวลผลจากฐานข้อมูล และการเรียงลำดับก่อนหลังการหยิบสินค้าตามเงื่อนไขที่กำหนด
4. การนับสต็อก (Inventory Count) ก่อนการตรวจนับ จะหยุดการรับจ่ายและเคลื่อนไหวสินค้า เคลียร์เอกสารรับจ่าย จัดเก็บสินค้าคงคลังทั้งหมดในสถานที่เก็บ เก็บข้อมูลสต็อกในระบบที่มีก่อนนับเพื่อเปรียบเทียบกับของจริง และเตรียมเอกสารนับสต็อก ส่วนการตรวจนับตามรายละเอียดในใบนับสต็อก(ชนิด ปริมาณ ฯลฯ) เปรียบเทียบข้อมูลที่เก็บกับที่ได้จากการตรวจนับจริง ซึ่งการตรวจสอบซ้ำเบื้องต้น หากพบผลต่าง และขั้นหลังการตรวจนับ ปรับข้อมูลหรือจำนวนในระบบให้ตรงกับจำนวนจริงที่นับได้ ซึ่งก็ต้องสรุปรายงานปัญหาและวัดความแม่นยำในการจัดเก็บสินค้า(Inventory Accuracy)
ดังนั้น หากต้องการวางระบบ จะต้องคำนึงถึงการนับสต็อกแบบเดิม ก่อนปรับเปลี่ยนการตรวจนับสินค้าภายในช่วงเวลาที่กำหนดโดยอาศัยการประมวลผลจากฐานข้อมูลแบบ Real time หรือสามารถตรวจนับในขณะที่กำลังปฏิบัติงาน ซึ่งระบบ Cycle count สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Mobile network ทำให้การตรวจนับสินค้ามีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
5. การจัดทำรายงาน (Report) โดยปกติจะมีการจัดทำรายงานเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่แล้ว แต่หากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้จะต้องสามารถตรวจสอบสถานะต่าง ๆ ของสินค้าและสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ ติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ และผลของการจัดการคลังสินค้าเพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาปรับปรุง รวมถึงการประมวลผลสรุปข้อมูลเชิงตัวเลข สถิติ และเชิงบรรยาย
วัตถุประสงค์ของการจัดการคลังสินค้า (Objective of Warehouse Management)
: ลดระยะทางในการปฏิบัติการในการเคลื่อนย้ายให้มากที่สุด
: การใช้พื้นที่และปริมาตรในการจัดเก็บให้เกิดประโยชน์สูงสุด
: สร้างความมั่นใจว่าแรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ สาธารณูปโภคต่างๆ มีเพียงพอและสอดคล้อง กับระดับของธุรกิจที่ได้วางแผนไว้
: สร้างความพึงพอใจในการทำงานในแต่ละวันแก่ผู้เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายสินค้า ทั้งการรับเข้าและการจ่ายออก โดยใช้ปริมาณจากการจัดซื้อ และความต้องการในการ จัดส่งให้แก่ลูกค้าเป็นเกณฑ์
: สามารถวางแผนได้อย่างต่อเนื่อง ควบคุม และรักษาระดับการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริการภายใต้ต้นทุนที่เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่าในการลงทุนตาม ขนาดธุรกิจที่กำหนด