How to reduce waste (six sigma)

Six Sigma เครื่องมือช่วยธุรกิจ เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส

ปัจจุบันโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเทคโนโลยี ด้านแรงงาน ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระบวนการในการทำงาน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ทั้งด้านบวก และด้านลบ เครื่องมือบริหารจัดการมากมายถูกเลือกหยิบนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสและปรับเปลี่ยนองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

Six Sigma เป็นหนึ่งใน Productivity Tool ที่ใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการธุรกิจขององค์กร โดยฉีกกรอบแนวคิดของเทคนิคการปรับปรุงกระบวนการแบบเดิมที่พิจารณาปัญหาจากการใช้ค่าเฉลี่ยของข้อมูล เปลี่ยนเป็นการพิจารณาปัญหาโดยศึกษาถึงความผันแปรของกระบวนการ ผ่านการใช้เทคนิคทางสถิติที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดของกระบวนการลดน้อยลง และยังป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งยังลดต้นทุนของกระบวนการ และสร้างผลกำไรให้แก่องค์กรอย่างมาก

How to reduce waste (six sigma) คืออะไร?
หมายถึง วิธีลดขยะ (six sigma) การลดปัญหาขยะ six sigma มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี แต่ที่เป็นที่นิยมคือ

​Lean Six Sigma โดยใช้ คำว่า Lean + Six Sigma ซึ่งจะมีพื้นฐานแนวคิดของ DMAIC เพื่อทำงานโครงงาน Six Sigma ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน คือ
D คือ การกำหนดปัญหา (define), M คือ การวัด (measure), A คือ การวิเคราะห์ (analyze), I คือ การพัฒนาหรือปรับปรุง (improve) และ C คือ การควบคุม (control) 

1. Define การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน อะไร ส่วนไหน ที่ต้องการปรับปรุง โดยเริ่มต้นตั้งเป้าหมายจากจุดที่คิดว่าเป็นปัญหาที่สุดของกระบวนการทำงาน

2. Measure การวัดความสามารถของกระบวนการ เก็บตัวเลขของแต่ละกระบวนการไว้เป็นสถิติ เพื่อที่จะนำผลลัพธ์ของแต่ละครั้งมาเปรียบเทียบกันได้

3. Analyze การวิเคราะห์สาเหตุปัญหา ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หาตัวการที่ทำให้กระบวนการทำงานแต่ละครั้งแตกต่างกันให้พบ 

4. Improve การปรับปรุงโดยเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา สร้างขั้นตอนการทำงานใหม่ที่สามารถขจัดปัญหา และได้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพมากขึ้น

5. Control การควบคุมกระบวนการที่มีผลกระทบ พยายามควบคุมระดับของกระบวนการที่ได้รับการปรับปรุงให้คงอยู่ในจุดที่น่าพอใจเสมอ

Lean คือ แนวคิดในการลดต้นทุน และความสูญเปล่าที่แฝงอยู่ในสายการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหาว่าสิ่งใดทำแล้วมีคุณค่า และสิ่งใดที่ไม่มี เพื่อพัฒนากระบวนการที่จำเป็นให้ดีขึ้นและตัดขั้นตอนบางอย่างทิ้งไป แล้วจึงหาวิธีการที่สูญเปล่าน้อยที่สุด 

หากเปรียบเทียบ Lean กับร่างกายของคนเรา Lean เหมือนการกำจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย จนกลายเป็นคนผอมแต่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เมื่อนำ Lean มาใช้กับธุรกิจจึงเท่ากับว่าได้ขจัดขั้นตอนและของเสียออกจากธุรกิจ ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น Lean เปรียบเสมือนเสาต้นแรกที่ช่วยค้ำยันธุรกิจ ส่วนเสาต้นที่สองที่จะมาช่วยให้ธุรกิจมั่นคงมากขึ้น คือ Six Sigma

โดยเมื่อ Lean และ Six Sigma มารวมกันจึงกลายเป็นรากฐานที่แข็งแรงและมั่นคงสำหรับการบริหารธุรกิจ ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และลดความแปรปรวนของการทำงานลง Lean Six Sigma ไม่ใช่เพียงทฤษฎีในอุดมคติ แต่เป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจขนาดเล็กและองค์กรขนาดใหญ่มาแล้ว ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของบริษัท พลังผัก จำกัด (Oh! Veggies) เจ้าของสินค้ามะม่วงน้ำปลาหวานที่ขายในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง สินค้ามีความนิยมสูงมาก ออร์เดอร์จึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว วิธีการที่ง่ายที่สุดในการตอบสนองยอดขายคงเป็นการขยายโรงงาน เพิ่มคน เพิ่มเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต แต่วิธีที่ง่ายกลับทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามมาด้วย

ทีมงานของพลังผักได้ตั้งโจทย์ที่ท้าทายขึ้นมาข้อหนึ่งว่า หากไม่เพิ่มกำลังคน ไม่เพิ่มอุปกรณ์ สามารถปรับเปลี่ยนส่วนใดได้บ้างเพื่อให้ได้สินค้าจำนวนเพิ่มตามที่ต้องการ เมื่อกำหนดปัญหา (Define) ได้แล้ว ขั้นต่อมาคือ การตรวจสอบ(Measure) และวิเคราะห์ปัญหา (Analyze) พบปัญหาอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ 

ปัญหาที่หนึ่ง การเสียเวลามากเกินความจำเป็นในขั้นปอกเปลือกและบรรจุมะม่วงลงกล่อง เมื่อเจาะลึกถึงสาเหตุพบว่าขนาดลูกมะม่วงที่ไม่เท่ากันทำให้จับไม่ถนัดมือ สามารถปรับปรุง (Improve) ได้โดยตกลงกับแหล่งวัตถุดิบผู้จัดหามะม่วงให้เลือกเฉพาะขนาดที่จับได้พอดีมือ และทำการทดลองดูว่า มีดชนิดไหนที่สามารถปอกมะม่วงได้สะดวกและไวที่สุด 

เมื่อได้ชนิดของมีดแล้วจึงมาศึกษาการเคลื่อนไหวของมือขณะปอก จนได้รูปแบบการปอกที่ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสอนให้กับพนักงานทุกคนทำในแบบเดียวกัน(Control)

ปัญหาข้อที่สอง วิธีบรรจุกล่องแบบเก่าต้องใช้คนเดินถือถาดมะม่วงไปสู่เครื่องบรรจุทำให้เกิดความล่าช้า จึงแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสายพานให้ลำเลียงสินค้าเข้าเครื่องโดยตรง จากเดิมที่ใช้เวลาผลิตมะม่วงน้ำปลาหวานต่อวัน 7-8 ชั่วโมง สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนเท่าเดิมภายในเวลาเพียง 4-5 ชั่วโมง โดยใช้คนเท่าเดิม ไม่ต้องให้พนักงานทำงานล่วงเวลาหรือเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตใดๆ 

ไม่น่าเชื่อว่าการย้อนกลับมาดูขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ การเปลี่ยนอุปกรณ์และการประสานความต้องการกับแหล่งวัตถุดิบ ร่วมด้วยกับการใช้เทคโนโลยีช่วยแรงงานคนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพิ่มทั้งผลผลิตและยังเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย “ประสิทธิภาพจะเกิดได้ แค่มุมมองเปลี่ยน”

Lean Six Sigma เป็นโครงการที่ไม่มีจุดเริ่มต้น และจุดจบของโครงการอย่างชัดเจน แต่เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องค่อยตรวจสอบและดูปัญหาที่เกิดขึ้น (Continuous Improvement) อาจจะเห็นผลได้ช้า แต่ก็คุ้มค่าที่จะทำ การคาดหวังถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของธุรกิจนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับวันที่โอกาสแห่งความสำเร็จนั้นจะเข้ามาด้วย ออกแบบกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและยังสามารถขจัดปัญหาของกระบวนการผลิตได้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.