Below the line

Below the line - Assistant director, production assistant, art department, camera department

เรามาคุยกันต่อจากบทความที่แล้วกัน ครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงหน้าที่ตามกองถ่ายภาพยนต์อย่าง Above the line กันไปแล้ว ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงหน้าที่ Below the line อย่างเช่น Assistant director, Production assistant เป็นต้น ว่าตำแหน่งเหล่านี้พวกเขามีหน้าที่ทำอะไรในกองถ่าย และมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพยนต์เรื่องหนึ่งได้อย่างไร

ASSISTANT DIRECTOR (AD)

ผู้ช่วยผู้กำกับ เป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้กำกับและทีมงานตำแหน่งอื่นๆ ช่วยในการสร้างและจัดการกับตารางการถ่ายทำ ประสานงานกับหัวหน้าฝ่ายอื่นๆ โดยสโคปหน้าที่ของ AD นั้นจะจัดการกับส่วนการผลิตเป็นหลัก ซึ่งโฟกัสที่การจัดการคิวถ่ายและทำให้แน่ใจว่าคิวเหล่านั้นจะถูกถ่ายตรงเวลาตามตาราง เป็นต้น

ทำหน้าที่ในการตีบทสคริปหรือสตอรี่บอร์ดออกมาเป็นรายการที่ต้องถ่ายทำ จัดระเบียบการถ่ายก่อนหลัง และประเมิณเวลาที่จะใช้ในการถ่ายทำเพื่อช่วยให้ผู้กำกับและผู้กำกับภาพได้ทำงานง่ายมากยิ่งขึ้น

เรียบเรียงและชี้แจงกำหนดการรายวันในกองถ่ายทำ มีส่วนในการตัดสินใจหากการถ่ายทำต้องย้ายสถานที่ หรือเปลี่ยนฉากการถ่าย หรือมีปัญหาติดขัดจนทำให้ต้องเลื่อน โดยมีเป้าหมายในการทำงานหลักๆคือช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กำกับนั่นเอง

ภาพยนต์หนึ่งเรื่องไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยผู้กำกับเพียงคนเดียว คุณอาจเห็น End Credit ภาพยนต์บางเรื่องที่มีผู้ช่วยมากถึง 4-5 คน ซึ่งแล้วแต่สไตล์หนังและลักษณะการทำงานโดยรวมของกองถ่ายนั้นๆ

PRODUCTION ASSISTANTS (PA)

ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในกองถ่ายทำภาพยนต์ รวมถึงรายการทีวี มิวสิกวิดีโอ หรืองานโฆษณาด้วยเช่นเดียวกัน

โดยส่วนใหญ่แล้ว PA จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

  • Set PA – ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ระหว่างการถ่ายทำ
  • Office PA – ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์แผนกการจัดการ
  • Post-Production PA – ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์หลังการถ่ายทำ

ซึ่งตามระหว่างการถ่ายทำมักจะมี Lead PA(Key PA) ที่คอยทำงานร่วมกับทีมผู้ผลิต มักเป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่าคนอื่นๆ เคยทำงานในภาพยนต์ระดับที่ใหญ่กว่ามาแล้ว เป็นต้น ซึ่งหากแตกตำแหน่งการถ่ายทำออกมาย่อยอีกคุณอาจจะเห็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์คนที่ 2 และ 3 มาตามลำดับ และอาจแบ่งแยกย่อยออกเป็นส่วนงานเช่นการจัดการงานเกี่ยวกับฉากในกองถ่าย จัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆในกองถ่ายเป็นต้น

หน้าที่ของ PA นั้นอาจถูกเปลี่ยนไปในแต่ละวัน บางกองถ่ายอาจแบ่งหน้าที่ของพวกเขาออกตามหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ

Office Production Assistants – คอยจัดการเรื่องการถ่ายทำ หรือการผลิตภาพยนต์ในสำนักงาน คอยสนับสนุนการถ่ายในลักษณะของงานเอกสารที่เกิดขึ้นทั้งหมด เช่น การคุยโทรศัพท์ติดต่อสอบถาม การติดต่อฝ่าย Location เป็นต้น

Post-Production Assistants – ดูแลเกี่ยวกับการทำการตลาดหลังการถ่ายทำ การดำเนินการผลิตหลังการถ่ายจนถึงขึ้นจอโรงภาพยนต์ทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการ Edit ฟุตเทจทั้งหมด ดูแลฐานข้อมูลและวางแผนการขาย

THE ART DEPARTMENT

ทีมอาร์ตมีหน้าที่ในการรับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำ สร้างส่วนประกอบฉาก สิ่งตกแต่ง และชุดแต่งกายในการถ่ายทำ อุปกรณ์ประกอบฉาก ฯลฯ

หน้าที่ของทีมอาร์ตจะเริ่มขึ้นตั้งแต่การจัดการฉากการถ่ายทำ ระหว่างการถ่ายทำ อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำ เน้นการสร้างสุนทรียภาพบนภาพยนต์ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้าง การดำเนินการอำนวยความสะดวกและใช้งาน

เช่นเดียวกับอีกหลายๆตำแหน่งที่จะมีตำแหน่งย่อยแบ่งเป็นฝ่ายภายในทีมอาร์ต มุ่งเน้นไปที่การออกแบบการผลิตในเฉพาะด้าน

Production Designer – เป็นหัวหน้าแผนก Art Department มีหน้าที่ในการออกแบบโดยใช้เทคนิคพัฒนาด้านภาพลักษณ์โดยรวมของภาพยนต์ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการสร้างภาพยนต์เพื่อให้องค์ประกอบของภาพทั้งหมดออกมาสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ และเช่นเดียวกันกับฝ่ายผลิตเพื่อคอยควบคุมงบประมาณที่จะเกิดขึ้น

ทีมอาร์ตนั้นสามารถแบ่งออกย่อยๆตามตำแหน่งได้อีกหลายตำแหน่ง เช่น Art Director ที่คอยควบคุมกำกับดูแลเรื่องภาพ, Assistant Art Director, Set Designer คนเขียนแบบดูแลเรื่องเกี่ยวกับฉากที่มีการสร้าง การเรนเดอร์ 3D การจำลองฉากจริง เป็นต้น, Concept Artict คอยดูแลเรื่ององค์ประกอบในฉากเช่นสร้างไดโนเสาร์ประกอบฉากในเรื่อง Jurassic Park, Graphic Art และตำแหน่งอื่นๆอีกมากมายที่ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพยนต์เรื่องนั้นๆ

CAMERA DEPARTMENT

กล้องเป็นส่วนสำคัญในกองถ่ายและเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยคนที่มีหน้าที่อยู่หลังกล้องนั้นค่อนข้างมีหลายตำแหน่ง และแต่ละตำแหน่งก็มีหน้าที่ รายละเอียดที่แตกต่างกันไป

Director of Photography (DP/DOP)

ผู้อำนวยการฝ่ายภาพถ่าย เป็นผู้จัดการแผนกกล้อง ไฟ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายทำที่เกี่ยวกับกล้อง รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมกล้อง ทำงานร่วมกับผู้กำกับโดยตรง

Camera Operator

ช่างกล้อง ตากล้อง เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมกล้องในการถ่ายทำ คนที่อยู่เบื้องหลังเลนส์ถ่ายและคอยควบคุมกล้องถ่ายไปยังมุมต่างๆ โดยสามารถเป็นคนเดียวกันกับ DP ได้หรือเป็นตากล้องโดยเฉพาะก็ได้เช่นเดียวกัน

นอกไปจากตำแหน่งหลังกล้องเหล่านี้แล้ว ตามกองถ่ายที่มีสเกลเป็นภาพยนต์ขนาดใหญ่อาจมีผู้ช่วยตากล้องอีกเป็นมือที่ 1 มือ ที่ 2 ตามลำดับซึ่งแล้วแต่ว่าใน 1 ฉากการถ่ายทำนั้นต้องการกล้องทั้งหมดกี่มุมที่ถ่ายพร้อมกัน และยังมีตำแหน่งประกอบที่ช่วยในการดำเนินงานหลังกล้องด้านอุปกรณ์ต่างๆ เช่นการเปลี่ยนฟิล์ม ช่วยถืออุปกรณ์ หรือแม้กระทั้งช่วยในการขยับกล้องที่มีขนาดใหญ่ในตำแหน่ง Loader (Film Loader, Digital Loader)

ในส่วนของ Camera Department นั้นยังมีอีกหลากหลายตำแหน่งที่สำคัญและอยู่คอยทำหน้าที่ดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นหลังกล้องในกองถ่ายทำ ทั้งช่างไฟ ฝ่ายอิเลคทรอนิกส์ที่คอยควบคุมการทำงานของเอฟเฟคต่างๆ และอุปกรณ์ส่วนประกอบอื่นๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันไปแต่มีจุดประสงค์เดียวกันคืออำนวยความสะดวกสบายให้กับการทำงานในกองถ่ายนั้นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นตำแหน่งหน้าที่ต่างๆที่ถูกเรียกว่า Below the line ซึ่งแต่ละตำแหน่งต่างมีความสำคัญทั้งหมดและมีการทำงานที่แตกต่างกันไปและยังคงมีอีกหลากตำแหน่งที่เราไม่ได้พูดถึงแต่ก็เป็นหน้าที่ที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการถ่ายทำภาพยนต์คือการทำงานร่วมกันของทีมงานเหล่านี้ พวกเขาต้องมีจุดประสงค์เดียวกันคือสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากที่สุดตามที่ต้องการจนออกมาเป็นภาพยนต์ดังเรื่องต่างๆที่เราได้ชมกันในปัจจุบัน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.