Lacey Act เป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่มีไว้เพื่อป้องกันการค้าขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และพืชซึ่งได้มาอย่างผิดกฎหมาย นั่นเอง โดยประกาศใช้ฉบับปรับปรุงเมื่อปี 2008 ซึ่งครอบคลุมในทุกๆช่องทางในการค้าขายทั้ง การนำเข้า ส่งออก ขนส่ง ซื้อ ขาย รับ หรือได้มา โดยเน้นไปที่เรื่องของความผิดกฎหมายของแหล่งที่มาของไม้ แต่จริงๆแล้วนั้นเดิมกฎหมาย Lacey Act เป็นกฎหมายที่ควบคุมเฉพาะการค้าสัตว์น้ำและของป่าในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุกว่า 100 ปีและถูกเปลี่ยนแปลงเป็นฉบับปรับปรุงในภายหลัง
ส่วนประกอบของกฎหมาย 3 ประเด็น
- การห้ามค้าขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ผิดกฎหมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ
- ข้อกำหนดในการแสดงข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับที่มา สายพันธ์ุ ปริมาณและมูลค่า ของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เมื่อนำเข้าสินค้าเหล่านั้น
- มีบทลงโทษสำหรับการละเมิดไว้อย่างชัดเจน มีทั้งเบาไปจนถึงหนักตามหลักกฎหมายโดยทั่วไป ทั้งปรับและจำคุก ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำ บทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดยังคงสงวนไว้สำหรับผู้ที่รู้กฎหมายแล้วแต่ยังฝ่าฝืน และสำหรับผู้ที่ไม่รู้ข้อกฎหมายบทลงโทษจะขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามีความพยายามจะค้า-ขายอย่างถูกกฎหมายมากเพียงใด
Lacey Act นั้นจะครอบคลุมทั้ง Supply Chain ของการซื้อขายหรือการทำธุรกิจครั้งนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าหากเกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายในขั้นตอนใดของการค้าขายแล้ว ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายต้องรับผิดชอบเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพียงผู้ที่เป็นคนขายเท่านั้น
สำหรับกฎหมายการห้ามค้าขายผลิตภัณฑ์ไม้ผิดกฎหมายนั้นมีผลกับผลิตภัณฑ์ไม้ทุกประเภทยกเว้นตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์บางอย่าง พืชผลทางเกษตรกร เป็นต้น
Lacey Act ถูกออกแบบมาแบบเรียบง่าย เพื่อสามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละธุรกิจทั่วๆไป เพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าประเภทไม้ในอเมริกาหลีกเลี่ยงการซื้อ-ขายไม้ที่ผิดกฎหมาย กฎหมายอยู่ในลักษณะที่อิงกับความเป็นจริงก่อนเอกสาร หมายความว่าหากมีส่วนของไม้ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายโดยสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ ถึงแม้ว่าคุณจะมีเอกสารรับรองว่าไม้ถูกกฎหมาย กฎหมาย Lacey ก็จะถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตาม (Burden of proof) ของรัฐบาลสหรัฐ
ประเภทไม้ผิดกฎหมายตามกฎหมาย Lacey
- ไม้ที่ถูกขโมย/ลักลอบนำออกนอกประเทศ
- ไม้ที่นำออกมาจากพื้นที่อนุรักษ์
- ไม้จากพื้นที่จำกัดตามกฎหมายของประเทศต้นทาง
- ไม้ที่ไม่ได้รับอนุญาติ
- ไม้ที่ไม่เสียภาษี/ค่าสัมปทานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
- ไม้ที่มีกฎหมายห้ามนำออกนอกประเทศ
อเมริกาได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตร (USDA) และกรมศุลกากรดำเนินการตรวจสอบสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้เถื่อนและแหล่งผิดกฎหมายมาแปรรูปหรือจำหน่าย
สำหรับในประเทศไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังอเมริกา
ผู้ที่จะส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไปอเมริกาจะต้องกรอกแบบฟอร์ม PPQ แนบไปกับสินค้าทุก Shipment เป็นการรับรองตัวเอง และหากรัฐบาลของอเมริกา พบว่าเอกสารที่กรอกไม่ตรงกับความเป็นจริงก็จะมีบทลงโทษเกิดขึ้นในภายหลัง
ซึ่งในช่วงแรกของการประกาศกฎระเบียบ ผู้ส่งออกหลายรายไม่สามารถระบุสายพันธุ์ของไม้ที่นำมาผลิตสินค้าได้ กรมป่าไม้ของไทยจึงได้ปรับแก้ไขระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือรับรองไม้และผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อรองรับระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งไม้และไม้แปรรูปไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 แล้ว ซึ่งสามารถรองรับกฎหมาย Lacey Act ของสหรัฐฯได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกพืช/ไม้ และผลิตภัณฑ์ กรณีประสงค์จะขอหนังสือรับรองนี้ประกอบการส่งออกไปสหรัฐฯ